โดยทั่วไปแล้ว ลูกในวัยทารกจนถึงวัยอนุบาลที่ไม่มีอาการออทิสติก ก็จะมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่นและมีพัฒนาการทางสังคมที่โดดเด่น ดังนั้น จึงสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ มากนัก คือ
- ค่อย ๆ เข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนในวัยเดียวกันหรือกับคนรอบข้างได้ แม้ในระยะแรก ๆ อาจเอียงอาย ไม่กล้าเข้าไปเล่นร่วม แต่ก็มีท่าทีสนใจ สังเกตเห็น หันมอง จ้องมอง มองตาม และคอยสังเกตอากัปกริยาต่าง ๆ ของคนอื่น แต่ในท้ายที่สุด ก็จะเข้าไปเล่นร่วม อยู่ในกลุ่ม และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านการเล่นที่สนุกสนานและการเข้าสังคมนั้น
- มีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางในเชิงสานต่อกับคนรอบข้างอย่างเห็นได้ชัด และเกาะติ ชี้ชวน เลียนแบบ สานต่อแบบสองทางกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ผู้เลี้ยงดู ครู หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน
- ตระหนักรู้ มองเห็น สังเกต พิจารณาอากัปกริยาหรือการตอบสนองของคนรอบตัวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเรียนรู้โดยปริยายถึงวิธีสานต่อหรือตอบสนองกับคนอื่น เช่น โต้ตอบการสนทนากับพี่ ๆ ที่ร้านสะดวกซื้อ พูดคุยกับพ่อค้าขายไอศกรีม หรือทักทายกับเพื่อนตัวเล็ก ๆ (หรือแม้แต่กับลูกหมาลูกแมว) ที่พบระหว่างทาง
- ลูกวัย 2 ขวบขึ้นไป จะเริ่มต้นสนใจเล่นร่วมกับเพื่อนจากระยะเวลาสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ ทำได้นานขึ้นตามลำดับ และเล่นอย่างมีรูปแบบมากขึ้น
- เมื่อถึงวัย 3 ขวบ ลูกมักต้องการเข้ากลุ่มเพื่อเล่นสนุกไปกับเพื่อน เล่นอย่างมีรูปแบบ แถมยังมีและยอมรับกติกาการเล่นแบบง่าย ๆ ภายในกลุ่มของตนเองได้อีกด้วย
แต่สำหรับลูกออทิสติก ภาพการสานต่อแบบสองทางเช่นที่ว่านี้ ดูเหมือนจะถูกตัดตอนลงกลางคัน ลูกจึงมักจะมีลักษณะ ดังนี้ คือ
- เลี่ยงการสบตากับคู่สนทนา ไม่ช้อนตามองเมื่อมีคนมาแตะตัวหรือเล่นด้วย
- ในยามดีใจ ตกใจ เสียใจ หรือภูมิใจ ก็ไม่มองไปรอบ ๆ ไม่มองหาพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้สึก
- ลูกอาจวิ่งเข้ามาหา มาดึงมือ มานั่งตัก แต่ไม่มีการสานต่อ ไม่เงยหน้ามอง ไม่สบตา ไม่พยักพเยิด หรือหากพ่อแม่ชี้ชวน ล้อเล่น หรือเรียกหาจากระยะไกล ลูกก็ไม่สนใจ
- ไม่เหลียวมองคนที่เดินผ่าน หรือเดินผ่านคนอื่นไปโดยไม่ตระหนักรู้
- หากเลือกได้ ลูกจะแยกตัวออกมานั่งเล่นคนเดียว ง่วนอยู่กับสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือวิ่งเล่นปีนป่ายอยู่คนเดียวมากกว่าจะอยู่ร่วมกับคนใกล้ชิด
- เมื่อได้พบกับเด็กในวัยเดียวกัน ก็ไม่ค่อยสนใจไปสานต่อ แม้ในบางครั้ง ลูกอาจเข้าไปหาเพื่อน แต่มุ่งเข้าไปหาเพื่อไปเอาของเล่นที่เพื่อนกำลังเล่นมากกว่าไปสานต่อเพื่อเล่นร่วมกับเพื่อน
- ลูกอาจไปวิ่งเล่นร่วมกับเด็ก ๆ คนอื่น แบบอาศัยวงจรการวิ่งของเพื่อน ๆ แต่กลับเล่นสนุกคนเดียวโดยไม่มีท่าทีพยักพเยิด ล้อเล่น สบตา ยิ้มหัวเราะร่วมกันในเชิงสานต่อแบบสองทางกับเพื่อน
โดยธรรมชาติที่ลูกออทิสติกขาดการมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่นนี้ ลูกจึงขาดโอกาสที่จะพัฒนาทักษะทางสังคม ขาดการเรียนรู้ผ่านการเล่นและการเข้าสังคม ขาดการใช้หรือพัฒนาทักษะภาษาเพื่อการสื่อสารกับบุคคลอื่น และมีพฤติกรรมบางอย่างที่แตกต่างจากเด็กทั่ว ๆ ไป
แม้ลูกออทิสติกจะมีปัญหาเหล่านี้ บ้านอุ่นรักก็ขอให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง มีกำลังใจและเชื่อมั่นว่า “ทุกปัญหา มีหนทางแก้ไข และท่านคือหัวเรือใหญ่ที่จะช่วยลูก ๆ แก้ปัญหานี้”
ขอเพียงท่านมองลูกตามความเป็นจริง กล้าเผชิญความจริง ตั้งสติได้เร็ว และเริ่มลงมือช่วยลูกแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถเสียแต่วันนี้ ในไม่ช้า ลูก ๆ ก็จะมีพัฒนาการทางสังคมและมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทางกับบุคคลอื่นที่ดีขึ้นได้ตามลำดับค่ะ
Photo Credit: Conner Baker | Unsplash