ลูกออทิสติก สมาธิสั้น จำนวนหนึ่งมีระบบการรับรู้ทางสายตาไม่สมดุล ลูกจึงแสดงพฤติกรรมที่พอจะมองเห็นได้หลายรูปแบบ เช่น

  • หมกมุ่นสนใจเป็นพิเศษกับการรับรู้ทางสายตา จึงชอบเพ่งมองภาพซ้ำ ๆ มองตัวอักษร สี สัญลักษณ์ ยี่ห้อสินค้า ธงชาติ ชอบมองสิ่งที่มีพื้นผิวมันวาว สิ่งที่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นพัดลม เข็มนาฬิกา หรือมองแนวกระเบื้องที่พื้นหรือฝาผนัง มองตามเสาไฟฟ้า มองป้ายโฆษณาขณะนั่งรถ
  • แต่ลูกบางคนอาจมีการหลบเลี่ยงการมองบางประเภท เช่น ไวต่อแสง ไม่ชอบเมื่อมีคนถ่ายภาพแล้วมีแสงเฟรช ไม่ชอบไฟกระพริบ ไม่ชอบแสงจ้า
  • หรือลูกบางคนมักจะมองอะไรแบบละสายตาโดยง่าย มองแบบไม่จดจ่อ มองไม่ต่อเนื่อง เหม่อมองแบบไม่โฟกัสสายตา สอดส่ายสายตาไปมา หรือตาลอยแบบมองทะลุผ่าน

จากปัญหาระบบการรับรู้ทางสายตาไม่สมดุล ทีมกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติกและสมาธิสั้นจึงมักจะจัดกิจกรรมให้ลูกศิษย์ได้เล่น Flashlight เล่นฉายไฟ เล่นไฟกระพริบ ที่เด็ก ๆ ได้มองตามแสงไฟ เพื่อ

  • กระตุ้นการรับรู้ทางสายตา (Visual Perception)
  • การมองตามสิ่งเคลื่อนไหว (Eye Tracking) และการกรอกตาตามวัตถุที่เคลื่อนที่
  • การฝึกคงสายตาจดจ่ออย่างต่อเนื่อง เพิ่มการคงสมาธิ
  • ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ เวลาที่ลูกหงุดหงิด

ตัวอย่างอุปกรณ์การเล่นที่นำมาประยุกต์ได้ เช่น ไฟฉาย ลูกบอลคริสตัล (ลูกตุ้มกระจก) ไฟเธค ไฟกระพริบ

ไฟฉาย

แบบที่ 1: ปิดไฟในห้อง ปิดม่านให้ห้องมืด แล้วเปิดไฟฉาย ใช้ไฟฉายส่องเคลื่อนที่ไปตามจุดต่าง ๆ ช้า ๆ ให้เด็กมองตาม  การเคลื่อนที่ของแสงในรูปแบบอิสระ

แบบที่ 2: ฉายไฟแบบระนาบที่ต่อเนื่องเพื่อฝึกมองแบบคงสายตา เช่น ฉายไฟย้ายตำแหน่งต่อกันเป็นเส้นทางที่ต่อเนื่อง อาจนับในใจ 1 ถึง 20 จุด โดยเคลื่อนที่ไฟฉายช้า ๆ ต่อเนื่องเป็นแนว เช่น ทางยาว ส่องไฟจากบนลงล่างแบบแนวตั้ง  ส่องแนวนอน  แนวเฉียงต่อกัน  ส่องเป็นแนวรูปสี่เหลี่ยม

แบบที่ 3: ส่องไฟและสอนคำศัพท์ เช่น ติดภาพคำศัพท์ที่ต้องการสอน จะติดแบบอิสระ หรือจะติดเป็นแนวระนาบ หรือสลับรูปแบบก็ได้ จากนั้นส่องไฟไปยังภาพคำศัพท์เพื่อกระตุ้นการพูด  หรือหากทำจนลูกจำคำศัพท์ได้แล้ว อาจรอให้ลูกพูดก่อนจึงส่องภาพถัดไป

แบบที่ 4: ปิดไฟมืด แล้วฉายไฟฉายบนโต๊ะ หรือบนพื้นให้ลูกไล่ตบแสง ในรูปแบบส่องไฟอิสระ หรือส่องตามแนวระนาบ  และอาจสลับบทบาทให้ลูกเป็นคนส่องแสงไฟ แล้วพ่อแม่ตามตบแสงเพื่อเล่นสนุกร่วมกัน

ลูกบอลคริสตัล (ลูกตุ้มกระจก)

วิธีเล่น: ปิดไฟให้มืด แล้วส่องไฟฉายแบบเคลื่อนที่ให้เกิดแสงสะท้อนในมุมต่าง ๆ เริ่มจากส่องแบบเคลื่อนที่แนวระนาบช้า ๆ ให้ลูกมองต่อเนื่อง จากนั้น ส่ายไฟฉายแบบเร็ว ๆ ย้ายจุดไปมา ให้เกิดแสงกระทบ ให้ลูกมองตาม

ไฟเธค ไฟกระพริบ (ขนาดเล็ก)

แบบที่ 1: ปิดไฟมืดแล้วเปิดแสงให้ลูกวิ่งเล่น หรือเปิดเพลงจังหวะเร้าใจสนุก ๆ แล้วชวนลูกเต้นรำ เคลื่อนไหวร่างกายด้วยกัน

แบบที่ 2: นำไฟกระพริบใส่ในเต็นท์ที่มีขนาดใหญ่พอควร ให้ลูกมุดไปนั่งเล่น

แบบที่ 3: ในสถานการณ์ที่ลูกหงุดหงิด ลองเปิดไฟนี้ให้ลูกได้ใช้เวลาสงบใจกับตนเอง ในลูกรายที่ไม่กลัวแสง หลังจากอยู่ในบรรยากาศของแสงไฟ ลูกจะเริ่มผ่อนคลายจากความหงุดหงิดภายใน  เพราะความสนใจถูกเบี่ยงเบนมายังสิ่งเร้าภายนอกคือแสงไฟ

คำเตือน

  • กรณีที่พบว่าลูกเลี่ยงหรือหวาดกลัว กลัวแสงไฟ โดยเฉพาะการใช้ไฟกระพริบหรือแสงจ้า ควรปรับระดับแสงให้สีนวล และเริ่มจากเวลาสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายเวลาให้นานขึ้น
  • ในทุกกิจกรรมเราจะไม่ปล่อยให้ลูกหมกมุ่นกับกิจกรรมใดนาน ๆ หรือซ้ำ ๆ ดังนั้นในแต่ละกิจกรรมควรใช้เวลาไม่เกิน 10-20 นาทีต่อรอบ เลือกทำในบางวันสลับกับการทำกิจกรรมอื่น หรือขึ้นอยู่กับปฎิกริยาตอบสนองของลูกว่าสนุก สนใจ และมีส่วนร่วมหรือไม่

เครดิตภาพ: https://www.freepik.com/rocketpixel