คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองรู้หรือไม่ว่าอะไรคือสิ่งที่เด็ก 3 ขวบควรทำได้? และศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ขอบอกเพิ่มเติมว่าคุณครูในโรงเรียนชั้นอนุบาล 1 ก็คาดหวังว่าผู้ปกครองได้เตรียมเด็ก ๆ ให้ทำสิ่งเหล่านี้ได้ก่อนเข้าโรงเรียนแล้ว

เด็ก 3 ขวบควรดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้ในเรื่องเหล่านี้

  • ปัสสาวะในห้องน้ำได้เอง ไม่ปัสสาวะราด ไม่ใส่แพมเพิส

สำหรับบางบ้านที่ลูกยังใส่แพมเพสอยู่ที่บ้าน ต่อไปนี้ ต้องทำใจนิ่ง ๆ ยิ้มสู้ ตั้งรับภาระการซักกางเกงและการหมั่นถูพื้นเปียก เพื่อแลกกับการเติบโตสมวัยของลูก โดยทุก ๆ 30 นาที หมั่นพาลูกเข้าห้องน้ำ กระตุ้นให้ลูกกระตุกกางเกงลงเอง กระตุ้นให้ลูกเบ่งฉี่ ซึ่งอาจต้องร้องเพลงรอ รอ และรอนานสักหน่อย แต่ขอให้รออย่างใจเย็น ลองเปิดน้ำช่วยบิ้วท์อารมณ์ พร้อมพูดกับลูกว่า “ฉี่ ๆ ๆ”  จากนั้นก็รออีกจนกว่าลูกจะสามารถเบ่งฉี่ออกมาสำเร็จ

  • เลิกนมขวดในตอนกลางวัน (และเมื่อทำได้จึงเลิกนมขวดกลางคืนต่อไป)

บางบ้านอาจกังวลว่าลูกทานอาหารได้ไม่ดี จึงยอมให้ดื่มนมขวด โดยลืมไปว่าตราบใดที่ลูกเลือกที่จะอิ่มท้องด้วยนมได้ ลูกก็จะไม่พยายามทานอาหาร ซึ่งประเด็นลูกเลิกนมขวดได้แล้วหรือไม่นี้ บอกอะไรได้ค่อนข้างลึกล้ำ คือ บ้านที่ตัดใจ ตั้งใจทำจนทำสำเร็จ เป็นการยืนยันให้เรารู้ว่าครอบครัวนี้จะนำทางลูกได้แน่นอน เพราะเขารู้ว่าอะไรควรทำเพื่อการเติบโตก้าวต่อไปของลูก

  • ทานอาหารโดยนั่งทานที่โต๊ะ ไม่เดินป้อน ตักทานเอง ทานได้ปริมาณ 10 คำขึ้นไป ทานอาหารได้หลากหลายชนิด

เรื่องการทานอาหารเป็นเรื่องที่ปรับง่ายที่สุดสำหรับเด็ก ๆ ในช่วงวัยก่อน 3 ขวบ ส่วนเด็กช่วงวัย 3-4 ขวบ อาจปรับยากขึ้นมาอีกนิด แต่ก็ค่อย ๆ ฝืนและฝึกได้

  • แต่งตัวแบบง่าย ๆ ได้เอง ถอด-ใส่รองเท้าได้เอง
  • นอนกับที่ในช่วงกลางวันโดยไม่ต้องนอนกอดหรืออุ้ม
  • ให้ความร่วมมือเมื่อผู้ใหญ่ช่วยนำในกิจกรรมช่วยเหลือตนเอง เช่น การแปรงฟัน
  • จับข้อมือลูกพาเดินแทนการอุ้ม

วันนี้ “บ้านอุ่นรัก” ขอกล่าวถึง “การช่วยเหลือตนเองที่เด็กวัย 3 ขวบควรทำได้” เพียงเท่านี้เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองพอที่จะเห็นภาพว่าท่านควรเตรียมลูกวัยก่อน 3 ขวบให้พร้อมในด้านใดก่อนวัยอนุบาล ซึ่งหลักการทำให้สำเร็จ คือ

  • สร้างความเชื่อให้ตัวเราเองและลูกว่าถึงวัยที่ลูกจะต้องช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุดแล้ว นี่คือก้าวแรกที่ลูกจะต้องเริ่มเติบโตอย่างสมวัย
  • จากนั้นจับนำ กระตุ้นให้ลูกร่วมลงมือทำทุกอย่างทุกขั้นตอน ค่อย ๆ ฝึกไปอย่างช้า ๆ แต่มีความหมาย
  • ไม่เน้นว่าลูกต้องทำได้อย่างสมบูรณ์แบบในทันที ณ จุดเริ่มต้น ขอเพียงลูกได้ร่วมทำ เมื่อเวลาผ่านไป ดูท่าทีของลูก หากพบว่าลูกเริ่มจับทางได้และเริ่มทำได้เอง จึงค่อย ๆ ลดการช่วยในบางขั้นตอนของกิจกรรมจนถึงจุดที่ลูกทำสิ่งนั้น ๆ ได้เองอย่างสมบูรณ์แบบ

การเลี้ยงลูกตัวจิ๋วให้เติบโตอย่างสมาร์ทแจ่มแจ๋วจะทำให้ลูกไม่ต้องรอพึ่งพิงคนอื่น ลูกดูแลตัวเองได้สมวัยเหมือนกับที่เด็กคนอื่นทำได้ ยืนบนขาของตนเอง และพร้อมก้าวเดินสู่การเติบโตในขั้นถัด ๆ ไป