ตอนที่ 1: ปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่บ้าน 5 ประการ
จากบทความ “Checklist Kids ซนอยู่ไม่สุข” ที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ได้ลงไปก่อนหน้านี้ เราหวังว่าคุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครองคงทราบแนวทางคร่าว ๆ ในการสังเกตพฤติกรรมประจำวันของลูก ที่เราขอเน้นย้ำกันอีกสักครั้งว่าท่านควรต้องเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของลูก ๆ กันสักระยะหนึ่ง ในหลาย ๆ มิติ ตลอดจนมีการจดบันทึกและนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกไปใช้ในการพบและปรึกษาแพทย์ในลำดับถัดไป
มาถึงตอนนี้ หากคุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครองได้พาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก และแพทย์วินิจฉัยว่าพฤติกรรมของลูกเข้าข่ายเด็กซนอยู่ไม่สุข แพทย์ก็จะให้แนวทางการบำบัดรักษาและการปรับพฤติกรรม ซึ่งคุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง ก็ควรที่จะทำตามคำแนะนำที่แพทย์ได้วางไว้ให้ ตลอดจนควรขอความร่วมมือจากสมาชิกทุก ๆ คนใมบ้านให้ร่วมกันทำตามคำแนะนำนั้น ๆ พร้อม ๆ กันไปด้วย
นอกจากการทำตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” อยากให้กำลังใจแก่คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครองว่าในฐานะของแม่และพ่อ ท่านเองก็สามารถเข้าเป็นแนวร่วมและเป็นทีมบำบัดคู่ขนานประจำบ้าน เพื่อช่วยทีมแพทย์และทีมบำบัดมืออาชีพในการปรับพฤติกรรม “ซนอยู่ไม่สุข” ของลูก ๆ ที่บ้านได้อีกทางหนึ่ง
การปรับพฤติกรรมซนอยู่ไม่สุขของลูกในขณะที่ลูกอยู่บ้าน ต้องอาศัย “การปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ 5 ประการ” คือ
1: เพิ่มการเคลื่อนไหวอย่างมีทิศทางและการออกกำลังกายที่ช่วยลดอาการซน อยู่ไม่สุข
2: จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีระเบียบมากขึ้น
3: เริ่มสร้างกฎกติกาบางอย่างตามวัยของลูก
4: ลดอาหารที่มีส่วนกระตุ้นระดับการตื่นตัว
5: แทรกกิจกรรมฝึกคงสมาธิ
ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมและตัวอย่างการปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่แต่ละประการนั้น “บ้านอุ่นรัก” จะหยิบยกมาให้คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง ได้ทราบในตอนต่อ ๆ ไป เพื่อให้เห็นภาพวิธีการปรับพฤติกรรม การจัดกิจกรรม หรือการจัดกิจวัตรประจำวันของเด็ก ๆ แบบง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก ไม่สลับซับซ้อน และท่านสามารถนำไปปรับใช้และทำได้เองที่บ้าน ซึ่งอันที่จริงก็เป็นกิจกรรมธรรมดา ๆ ที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของลูก ที่เราเอามาปรับใช้ในการลดความซนอยู่ไม่สุขของลูก ๆ นั่นเอง
“บ้านอุ่นรัก” รับรองว่าตัวอย่างที่เราจะหยิบยกมาให้ท่านทราบในตอนต่อ ๆ ไป จะเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ปรับใช้ได้จริงที่บ้าน และที่สำคัญคือเรานำตัวอย่างเหล่านั้นมาจากแนวทางการปรับพฤติกรรมเด็ก “ซนอยู่ไม่สุข” ที่เราใช้จริงในการสอนเด็ก ๆ ที่ “บ้านอุ่นรัก” และเราใช้ได้ผลมาแล้วค่ะ
โปรดติดตามอ่านกันนะคะ
เครดิตภาพ: Wayne Lee-Singh | Unsplash