ตอน: ลดอาหารที่มีส่วนกระตุ้นระดับการตื่นตัว

เพื่อลดอาการซนอยู่ไม่สุข  เราจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญในการปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่บางประการ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกการออกกำลังกาย การจัดสภาพการเคลื่อนไหว การจัดบ้านให้เป็นระเบียบ การเริ่มสร้างกฎกติกาตามวัย และในตอนนี้ เราจะเน้นเรื่องการลดอาหารที่มีส่วนกระตุ้นภาวะตื่นตัว ซึ่งถือเป็นการจัดการสภาพทางร่างกายอีกทางหนึ่ง

กล่าวคือ เราต้องลดอาหารรสหวาน อาหารทีมีสารคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ หรืออาหารที่เราสังเกตว่าเมื่อลูกทานแล้ว ลูกตื่นตัว หรือลูกบางรายเกิดอาการแพ้ และทำให้ไม่สบายตัว

เรื่องที่เกี่ยวกับอาหารของลูกนี้ โดยเฉพาะบ้านที่มีสมาชิกหลายคน ช่วยกันดูแลและเลี้ยงดูลูก ยิ่งมีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจเพิ่มเติมอีกหลายประการ เช่น

  • ต้องมีการส่งต่อข้อมูลเรื่องอาหารและขนมที่ลูกรับประทานให้ดี
  • ต้องหลีกเลี่ยงสภาพการณ์ที่เราต่างคนต่างให้ลูกทานขนมหรือของหวานมากเกินไปแบบไม่รู้ตัว
  • ถ้ามีขนม ของหวาน ไอศรีม นมรสหวาน น้ำหวาน และของหวานในตู้เย็น ยิ่งต้องระมัดระวังและช่วยกันจัดการให้ดี เพื่อไม่ให้ลูกวิ่งเปิด-ปิดตู้เย็นทั้งวัน จนลูกมีภาวะตื่นตัวสูง

การลดอาหารที่มีส่วนกระตุ้นระดับการตื่นตัวของลูก ต้องทำควบคู่ไปกับการเน้นให้ลูกได้ทานอาหารมื้อหลัก ๆ ให้อิ่ม ส่วนการทานขนมหรือของหวาน ขอให้มีเพียงน้อยพอให้ลูกชื่นใจ และไม่ปล่อยให้ลูกทานได้ตามสบายแบบไร้ขีดจำกัด
หากเราสามารถลดขนมและของหวานที่ลูกทานลงได้มากกว่าครึ่งจากปัจจุบัน เราทุกคนที่บ้านจะพบผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจและชื่นใจว่าลูกจอมซนอยู่ไม่สุข ดูนิ่งมากขึ้น หุ่นดีขึ้น และมีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เครดิตภาพ: Wayne Lee-Singh | Unsplash