ตอน: จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีระเบียบมากขึ้น + เริ่มสร้างกฎกติกาบางอย่างตามวัยของลูก

สำหรับอาการ “ซนอยู่ไม่สุข” แม้จะมีรายละเอียดของอาการบางประการที่ต่างจากอาการ “สมาธิสั้น” ที่ทำให้เราต้องแยกอาการสองอย่างนี้ออกจากกัน แต่การจับลูกซนอยู่ไม่สุขมาปรับพฤติกรรมโดยอาศัยการปรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ประการที่ 2 และ 3 คือ (ประการที่ 2) มีการจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีระเบียบมากขึ้น และ (ประการที่ 3) เริ่มสร้างกติกาบางอย่างตามวัย จะมีแนวคิดและการจัดการในลักษณะเดียวกันกับการรับมือลูกสมาธิสั้น

กล่าวคือ จัดสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบเพื่อตัดวงจรสถานการณ์ที่จะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมวุ่นวาย หรือเกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอยู่เป็นประจำ ยกตัวอย่าง เช่น การลดจำนวนของเล่นที่วางไว้ตามมุม เพื่อลดโอกาสที่ลูกจะรื้อค้นจนของเล่นเกลื่อนกระจาย เล่นของเล่นเสร็จ ชวนลูกช่วยเก็บให้เรียบร้อย เมื่อทำแบบนี้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ลูกจะค่อย ๆ เคยชินและกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่ลูกทำได้ด้วยตนเองต่อไป เก็บขวดแชมพู ขวดแป้ง ที่ลูกชอบเทเล่น หรือสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายไว้ในที่สูงจนพ้นมือลูก หรือย้ายโต๊ะ เก้าอี้ หรือโซฟา ออกจากจุดที่ลูกเคยชินที่จะกระโดดเล่นหรือปีนป่ายเป็นประจำออกไป เป็นต้น

ส่วนการเริ่มสร้างกฎกติกาบางอย่างตามวัยของลูก ก็จะช่วยให้ลูกซนอยู่ไม่สุข (และลูกสมาธิสั้น) ได้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับบุคคลอื่น ทั้งในตอนที่อยู่ที่บ้านหรือที่อื่น ๆ ให้ปกติสุขมากขึ้นได้

การตั้งกติกาตามวัย เช่น คุยทำข้อตกลงกับลูกในทุกสถานการณ์ที่ทำได้ เช่น ข้อตกลงก่อนไปร้านสะดวกซื้อ (จะซื้ออะไรบ้าง ซื้อได้กี่ชิ้น ราคาเท่าไร) ก่อนไปเล่นสนามเด็กเล่น (รอคอยคิว ไม่แซงคิว ไม่วิ่งสวนทางคนอื่น) ก่อนไปเดินเล่น (เดินข้างแม่ ไม่วิ่งออกนอกเส้นทาง) หรือก่อนไปขี่จักรยานนอกบ้าน (ขี่ตามเส้นทาง ขี่ได้กี่รอบ กี่นาที) เป็นต้น นอกจากนี้ คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง ควรฝึกการรอคอยแทรกในทุกสถานการณ์ด้วย เช่น ฝึกให้นั่งรอแม่สักครู่ก่อนออกไปเดินเล่น นับเลขรอแม่ขณะแม่ชงนมให้ ยืนรอขณะแม่ทำเครื่องดื่มให้ โดยไม่รีบให้ทันที ทั้งนี้ ลูกอาจมีมีพฤติกรรมปฏิเสธกิจกรรมหรือเลี่ยงกติกา ซึ่งเราสามารถลดพฤติกรรมปฏิเสธกิจกรรมหรือเลี่ยงกติกาของลูกได้ด้วยการแตะนำหรือเบี่ยงเบนก่อนนำให้ลูกลงมือปฏิบัติตามกติกา โดยเราต้องเลี่ยงและลดการพูดใช้คำสั่ง และหากเห็นว่าลูกแสดงพฤติกรรมที่เกินกว่าเหตุ เราจะไม่ปล่อยผ่าน แต่จะค่อย ๆ นำลูกให้ทำพฤติกรรมที่มีความเหมาะสมมากขึ้น ตลอดจนมีการคุยกันหลังเหตุการณ์สงบ เพื่อลูกเรียนรู้ที่จะร่วมรับผิดชอบผลที่ตนกระทำไป และช่วยให้ลูกยอมรับกติกาตามวัยในครั้งต่อ ๆ ไปได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับบทความของ “บ้านอุ่นรัก” ในเรื่องนี้และในตอนนี้ เรามุ่งเน้นให้คุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง เห็นความจำเป็นว่าเราต้องช่วยแก้ไข ลดความเคยชินที่ลูกจะทำพฤติกรรมซนอยู่ไม่สุข และตัดวงจรพฤติกรรมวุ่นวายนี้ให้ได้โดยเร็ว เพราะพฤติกรรมที่ไม่สมวัยนี้เป็นเรื่องที่ลูกไม่ควรทำ ทั้งนี้ การจะช่วยให้ลูกเติบโตอย่างมีความหมายต้องอาศัยบทบาทของแม่ พ่อ และผู้ปกครองที่มองเห็นปัญหา และตระหนักรู้  ตลอดจนลุกมาลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อจัดการและจัดสภาพ หรือแม้แต่ปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตของลูกไม่มากก็น้อย

การที่ปัญหาของลูกจะคลี่คลายลงไปได้หรือลูกจะเก่งและน่ารักสมวัยได้ บางครั้งไม่ใช่จากการเติบโตตามธรรมชาติทั้งหมด แต่มีบางเรื่อง บางสถานการณ์ที่เราจะต้องลงไปช่วยจัดการและจัดสภาพที่จะเอื้อต่อการเจริญเติบโตของลูกค่ะ

ในส่วนของคุณแม่ คุณพ่อ ผู้ปกครอง เมื่อได้จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เป็นระเบียบและเอื้อต่อการลดอาการซนอยู่ไม่สุขของลูก ๆ กันแล้ว ก็อย่าลืมให้ความรัก ความเอาใจใส่ ให้เวลา และให้โอกาสลูก ๆ ในการเรียนรู้และฝึกฝนจนลูกจอมซนอยู่ไม่สุข สามารถซนน้อยลง….และซนน้อยลงอีกได้…ในที่สุดค่ะ

เครดิตภาพ: Wayne Lee-Singh | Unsplash

Facebook Comments

โทรเลย