ถ้าคุณคือพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกวัยรุ่น แต่ไม่ค่อยได้ชวนลูกพูดคุย เพราะรู้สึกว่าลูกมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ลูกชอบอยู่ในโลกส่วนตัว  ลูกไม่ชอบแบ่งปันเรื่องราวใด ๆ กับพ่อและแม่ หรือแม้จะได้คุยกัน ก็จะคุยกันแบบไม่ค่อยเข้าใจ เพราะลูกและคุณสนใจเรื่องราวที่แสนจะแตกต่างกัน…ถ้านี่คือคุณ…ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” มั่นใจว่าบทความนี้คือบทความที่คุณต้องอ่าน

อันที่จริง ก็จริงอยู่ว่าสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่ค่อยได้คุยกับลูกวัยรุ่น หากจู่ ๆ จะชวนลูกคุย ก็คงดูแปลก ๆ และทำได้ค่อนข้างยาก…แต่เพราะลูกคือสิ่งที่มีค่าสูงสุด และการได้พูดคุยกันก็เป็นพื้นฐานของการสร้างและสานความรักและความเข้าใจระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและลูก ดังนั้น แม้การชวนลูกวัยรุ่นคุยจะทำได้ยากเย็นแค่ไหน ก็คุ้มค่าที่เราทุกคนต้องพยายาม

เทคนิคการคุยกับลูกวัยรุ่น

  1. สร้างความเคยชิน

เพื่อให้ลูกเกิดความเคยชินที่จะคุยกับเรา เราต้องเป็นคนเริ่มต้นพูดคุยกับลูกให้ได้ทุกวัน ๆ ละ 15 นาทีเป็นอย่างน้อย โดยต้องเลือกหัวข้อการพูดคุยให้ถูกต้องและเหมาะสมกับความสนใจของลูก เพื่อไม่ให้ลูกผละจากไปทันที

  1. เรื่องที่จะคุย

ในระยะแรก ๆ ของการชวนลูกวัยรุ่นคุย เราต้องเน้นการชวนคุยในเรื่องที่ลูกไม่ต้องระวังตัว เช่น เรื่องทั่ว ๆ ไปที่ไม่เฉพาะเจาะจง เรื่องที่ไม่ลงลึก เรื่องที่อยู่ในกระแสแต่ไม่จำเป็นต้องมีสาระจริงจัง คุยเรื่องไกลตัว เรื่องการเดินทาง ซีรีย์ที่ลูกชอบดู หนังสือที่ลูกชอบอ่าน เกมส์และกีฬาที่ลูกชอบเล่น หรืออาหารที่ลูกชอบทำ จากนั้น เมื่อลูกเริ่มรู้สึกสบายใจและเคยชินเวลาที่คุยกับเรา ลูกจะค่อย ๆ หลุดไหลพูดคุยกับเราถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เจาะลึก เฉพาะเจาะจง และเกี่ยวข้องกับชีวิตของลูกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน อัตลักษณ์และตัวตนของลูก ข้อสงสัยเรื่องความรักและความรู้สึก หรือแม้แต่เรื่องที่ลูกหนักใจและมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน

  1. สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

ในการพูดคุยกับลูก เราจะไม่เน้นการสอน ไม่พูดตัดบท ไม่พูดปลอบใจในทันที แต่จะเน้นการจับความรู้สึกว่าลูกรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์ต่าง ๆ และลูกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาอะไร แล้วตอบรับให้ลูกรับรู้ให้ได้ว่าเราเข้าใจทั้งความรู้สึกและสถานการณ์ที่ลูกกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ตามที

ตามที่เกริ่นไปแล้วว่า ในขณะที่คุยกับลูก เราต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูกและหาวิธีนำทางให้ลูกรู้จักสะท้อนและจัดการความรู้สึกของตนเองให้ได้เสียก่อน จากนั้นจึงค่อยพูดให้ข้อคิดหรือแนวทางที่จะช่วยให้ลูกเข้าใจประเด็นว่าลูกจะสามารถจัดการกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไร ส่วนการสอนลูก เราค่อยสอนหลังจากลูกเปิดใจรับฟังข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของเราได้อย่างสงบ ทั้งนี้เพื่อลูกไม่เกิดความรู้สึกต่อต้านความเห็นของพ่อแม่ในแบบที่ลูกวัยรุ่นทั่วไปมักจะทำ

การที่เราใส่ใจ รับฟัง ทำความเข้าใจ สนใจ และเห็นความสำคัญในสิ่งที่ลูกกำลังพูดให้เราฟัง ตลอดจนการแสดงออกให้ลูกรับรู้ว่าเรายินดีที่ได้รับฟัง  ยินดีที่จะช่วยสนับสนุน อยู่ข้างๆ เพื่อช่วยให้ข้อคิดเห็น หรือคำแนะนำที่ช่วยนำทางลูกได้ จะทำให้ลูกเคยชินและไว้ใจที่จะพูดคุยกับเรามากยิ่ง ๆ ขึ้น และลูกจะเปิดใจ แบ่งปันความรู้สึก และอยากเล่าเรื่องราวทุกข์สุขให้เราฟังด้วยความสบายใจ ดังนั้น ในยามที่ลูกมีปัญหา พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะกลายเป็นคนแรก ๆ ที่ลูกกล้าพูดเพื่อขอความช่วยเหลือ

…เพราะลูกคือสิ่งที่มีค่าสูงสุด ดังนั้น การชวนลูกวัยรุ่นคุย แม้อาจดูยาก แต่คุ้มค่าและเราต้องพยายามทำ