เด็กออทิสติก คือ เด็กที่ได้รับการวินิจฉัยโรค เนื่องจากเด็กมีความผิดปกติด้านพัฒนาการ โดยพัฒนาการหลายด้านของเด็กจะล่าช้ากว่าพัฒนาการตามปกติที่เด็กควรจะทำได้ตามวัยของตนเอง
ในภาพรวม แม้เด็กออทิสติกแต่ละคนจะมีลักษณะและระดับของอาการที่แตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาพัฒนาการที่เด็กแสดงออก ก็จะพบว่า เด็กออทิสติกมีความล่าช้าที่สังเกตเห็นได้ในหลายด้าน เด็กจึงดูแตกต่างจากเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกันค่อนข้างชัดเจน คือ
- ความล่าช้าด้านพัฒนาการที่ชัดเจนที่สุดคือขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนใกล้ชิด โดยเด็กไม่สนใจที่จะเล่นร่วมกับใคร ไม่สนใจจะสานต่อแบบสองทางกับบุคคล และขาดการชี้ชวนหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนใกล้ชิด ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ขัดกับธรรมชาติของเด็กเล็ก ๆ วัยก่อนสามขวบ ที่ตามปกตินั้น เด็กจะชอบคลอเคลีย พยักพเยิด และเข้าหาพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดตลอดเวลา
- เด็กมีความไม่สมวัยด้านการสื่อภาษา ไม่ว่าจะเป็นการพูด การแสดงออกทางสีหน้า แววตา และท่าทาง เมื่อเด็กต้องการอะไร เด็กจะใช้การดึงมือผู้ใหญ่ไปยังสิ่งนั้น ๆ แทนการพูดบอกหรือชี้ไปยังสิ่งที่ตนต้องการ นอกจากนี้ เด็กออทิสติกมักมีพัฒนาการทางการพูดช้า คุณภาพการพูดไม่สมวัย และสานต่อการสนทนาไม่ได้
- เด็กมีพฤติกรรมยึดติดรูปแบบ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบหมกมุ่นกับกิจกรรมเดิม ๆ สนใจของบางอย่างแต่นำมาเล่นตามรูปแบบเฉพาะของตนเอง ในแง่การเล่นของเด็ก เด็กจะเล่นแบบตอบสนองระบบการรับสัมผัส หรือที่เรียกว่า “เล่นแบบ Sensory Play” ไม่เล่นเชิงสำรวจ-ทดลอง-หรือใช้จินตนาการแบบเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน นอกจากนี้ เด็กอาจมีพฤติกรรมกระตุ้นตนเองซ้ำ ๆ ในอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบการรับสัมผัส เช่น เวลามองอะไร จะเอียงคอมองเล็งจากด้านข้าง ชอบสะบัดมือ เคาะของเล่นเพื่อฟังเสียง หรือออกเสียงเป็นภาษาแปลก ๆ ของตนเอง
- เด็กมีอารมณ์หวั่นไหวง่ายซึ่งเกิดจากการที่เด็กรับรู้ไว จึงส่งผลให้เด็กมักจะเลี่ยงหนี ตื่นตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ นอกจากนี้ เนื่องจากเด็กมีอารมณ์ที่ยึดติดและมีรูปแบบ เด็กจึงต่อต้านความเปลี่ยนแปลง ขาดความยืดหยุ่น และดูเหมือนหงุดหงิดได้ง่าย
ทั้งนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูของเด็ก ควรหมั่นสังเกตภาพรวมของพัฒนาการเด็ก หากพบความล่าช้าไม่ว่าด้านใด ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็กเพื่อตรวจวินิจฉัยให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเด็กออทิสติกบางรายยังเล็กมาก เช่น เด็กเล็กก่อนวัย 2.6 ขวบ หรือเด็กที่มีอาการออทิสติกในระดับน้อยและไม่รุนแรง การสังเกตอาการอาจทำได้ยากขึ้น ดังนั้น การหมั่นพาเด็กไปพบแพทย์ประจำตัวเด็กเพื่อตรวจสุขภาพและดูแลด้านพัฒนาการเป็นประจำ แพทย์ก็จะสามารถช่วยตรวจสอบและติดตามเรื่องพัฒนาการเด็กเป็นระยะ ๆ ได้ต่อไป