“ความขัดแย้ง” เรื่องวุ่น ๆ ที่เราจัดการให้ดีขึ้นได้

เนื่องในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนแห่งความรัก ในเดือนนี้ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” จึงขอกล่าวถึง “ความขัดแย้ง” ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งที่สำคัญที่มักจะเกิดแทรกเป็นระยะ ๆ ในขณะที่เรากำลังสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่เรารัก แต่เราต้องการก้าวผ่านความขัดแย้งไปให้ได้เพื่อคงไว้ซึ่งความสุขและความรู้สึกดี ๆ ที่ต่างมีให้กัน เราจึงต้องหาทางจัดการลดความขัดแย้ง ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น

  • ต่างฝ่ายต่างตั้งเป้าหมายและมีพันธสัญญาร่วมกันว่าจะช่วยกันรักษาสัมพันธภาพแบบคู่แท้ เพื่อนแท้ หรือเป็นคนที่จะไว้ใจกันได้อย่างยาวนานตลอดชีวิต เพราะตัวตั้งและพันธสัญญานี้จะช่วยผลักดันให้เราต่างใช้ความพยายามสูงสุดในการรักษาสัมพันธภาพต่อไป แม้ทำได้ยากในบางขณะแต่เมื่อสองพลังช่วยกันออกแรงแก้ไข ปัญหาความขัดแย้งย่อมผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
  • เราตั้งมั่นว่าเราจะทำให้ดีที่สุดในส่วนของตัวเราเอง ตลอดจนลดความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงใคร เพราะเราเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้เว้นเสียแต่ว่าคน ๆ นั้นต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างแท้จริง
  • เราเข้าใจให้ตรงกันว่าความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากข้อบกพร่องหรือความผิดพลาดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากวิธีที่เราใช้ในการโต้ตอบกันและกัน หากเราใช้วิธีเดิม ๆ ในการโต้ตอบปัญหาตามที่เราเคยทำหรือเคยชินที่จะทำ ความขัดแย้งจะยังอยู่หรือเพิ่มมากขึ้นได้ ดังนั้น เราจะช่วยกันค้นหาวิธีประนีประนอม ยอมรับกันและกันว่าไม่มีใครเหมือนใคร แต่เรายินดีที่จะช่วยกันลดความขัดแย้งและจะหาทางจัดการความแตกต่างที่เราทั้งสองฝ่ายมี เพื่อต่างฝ่ายต่างได้รับการตอบสนองด้วยความเข้าใจ ยอมรับ และวิน-วิน (Win-Win) ด้วยกันทั้งคู่
  • เราใช้แนวทางลดความขัดแย้งแนวใหม่ที่ไม่ได้มุ่งให้อีกฝ่ายพูดถึงข้อเสียที่ต้องการให้อีกฝ่ายแก้ไข แต่เราต่างคนต่างพยายามเข้าใจมุมมองของฝ่ายตรงกันข้าม ย้อนกลับไปคิดพิจารณาว่าอีกฝ่ายมีคุณค่าอย่างไร มีความดีงามที่เคยทำให้และความดีงามที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันมาอย่างไร ตลอดจนเราจะสำรวจตรวจสอบตนเองว่าสามารถมีส่วนร่วมในการปรับปรุงและรับผิดชอบความสัมพันธ์ในส่วนของตนเองได้อย่างไรบ้าง
  • เราไม่นำความฝังใจในอดีตและความไม่เป็นกลางในความคิดของเรามาเป็นอุปสรรคในการลดข้อขัดแย้งแต่ละครั้ง
  • เรานิ่งฟังมากขึ้นเพราะการนิ่งฟังจะช่วยให้เราลดการโต้ตอบแบบทันทีทันควัน อีกทั้งทำให้เราสามารถจับประเด็นและความรู้สึกที่อีกฝ่ายต้องการหรือพยายามสื่อสารให้เรารับรู้ อันส่งผลให้เราตระหนัก รับรู้ใจความสำคัญ เห็นอกเห็นใจ เข้าใจและยอมรับเขาได้ดีขึ้น
  • เราปรับคำพูดและระดับน้ำเสียงเพื่อแสดงออกถึงความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจ คำพูดและน้ำเสียงที่ใช้ต้องไม่ยั่วยุ ไม่เพิ่มความโกรธ ตลอดจนไม่แสดงความเป็นปรปักษ์เมื่อมีความขัดแย้งเฉพาะหน้า ส่วนในระยะยาว เราจะหาแนวทางบำรุงรักษาความสัมพันธ์และหาวิธีแสดงออกให้บ่อยครั้งขึ้นเพื่ออีกฝ่ายสัมผัสได้ชัดถึงความรัก ความห่วงใย หรือแม้แต่เสน่หาที่ยังคงมีอยู่ตลอดไป

“บ้านอุ่นรัก” หวังว่าข้อคิดและแนวทางลดความขัดแย้งข้างต้นจะเป็นประโยชน์และทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของตนเองและคนที่เรารัก ยอมรับกันและกันในแบบที่ไม่มีใครเหมือนใคร ตลอดจนส่งผลให้เราได้ช่วยกันคนละเล็กละน้อยไปทีละหน่อยในการปรับปรุงวิธีคิด วิธีสื่อสารและการแสดงออกเพื่ออยู่ร่วมกันด้วยความรู้สึกปลอดภัย เข้าใจกัน เพื่อความสุข ความสนุกสนานที่ได้สบตา มองหน้า พูดคุยและหัวเราะสนุกด้วยกัน จนสามารถลดและขจัดความขัดแย้ง เพื่อหวนคืนสู่ความสัมพันธ์แบบคู่แท้ เพื่อนแท้ และคนรู้ใจที่ใกล้ชิดทางใจได้ในท้ายที่สุด

เครดิตภาพ: https://unsplash.com/photos/Iq9SaJezkOE | Unsplash | GR Stock

ติดต่อศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก”

บ้านอุ่นรักสวนสยาม: โทร: 086 775 9656

บ้านอุ่นรักธนบุรี ถนนพุทธมณฑลสายสอง: โทร: 087 502 5261

วันและเวลาทำการ: จันทร์ – ศุกร์ | 09.00 น. – 15.00 น.

 

Facebook Comments

โทรเลย