การพูดกับตัวเองเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป หรือแม้แต่ตัวเราเอง เราก็อาจเผลอพูดคนเดียวในบางครั้ง แต่สำหรับลูกออทิสติก พฤติกรรมนี้อาจเกิดบ่อยมากและมีความต่างจากกรณีทั่ว ๆ ไปตรงที่ลูกจะพูดคำซ้ำ ๆ เดิม ๆ หรือพูดเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยลูกอาจไม่ได้รับรู้ว่าพฤติกรรมนั้น ๆ เป็นพฤติกรรมที่แปลกแตกต่าง และไม่ได้เตือนตนเองให้ควบคุมหรือหยุดตนเองเหมือนที่เราทำ บางครั้งพฤติกรรมนี้ของลูกจึงมีผลกระทบบางประการเมื่อลูกอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
.
สาเหตุที่ลูกออทิสติกชอบพูดคนเดียวหรือพูดอะไรซ้ำ ๆ มีหลายประการ เช่น
(1) การพูดคนเดียวหรือพูดอะไรซ้ำ ๆ เป็นพฤติกรรมกระตุ้นตนเองรูปแบบหนึ่ง
(2) ลูกออทิสติกพูดในสิ่งที่กำลังคิด หรือเราจะเรียกว่าลูกเป็นคนที่ “คิดดัง”
(3) ลูกอาจพูดคนเดียวหรือพูดซ้ำ ๆ ในสถานการณ์พิเศษ เช่น เครียด วิตกกังวล หรือต้องการปฏิเสธอะไรบางอย่าง
.
เมื่อเราพบว่าลูกพูดกับตนเองหรือพูดซ้ำ ๆ เราจะช่วยลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ได้อย่างไร?
.
(1) ตอบสนองและดึงลูกสู่ปัจจุบัน
หากพบว่าลูกเริ่มพูดหรือถามซ้ำ เราควรเข้าแทรกเพื่อตอบรับหรือชวนคุยและสอบถามลูกเพิ่มเติมเผื่อเป็นกรณีที่ลูกต้องการสื่อสารอะไรบางอย่าง หรือต้องการความช่วยเหลือ แต่หากเราพบว่าลูกพูดวนซ้ำเกินสามครั้งหลังจากเราพยายามตอบสนองแล้ว ควรรีบดึงลูกกลับสู่ปัจจุบันซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดตรงหน้า เช่น ถามว่าลูกกำลังทำอะไร ลูกกำลังทานอะไร หรือเตือนให้ลูกกลับมาสนใจทำกิจกรรมตรงหน้า
.
(2) เพิ่มกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่มีรูปแบบเหมาะสมกับวัย (ไม่ทำกิจกรรมวนซ้ำจนหมกมุ่น)
ลูกอาจพูดซ้ำ ๆ มากขึ้นในเวลาว่างหรือในเวลาที่ลูกได้แยกตัวคนอยู่เดียวนาน ๆ เช่น ในเวลาที่พ่อแม่หรือคนในบ้านติดภารกิจอื่น ๆ ดังนั้น สมาชิกในบ้านควรร่วมกันวางแผนการทำกิจวัตรประจำวันด้วยการดึงลูกให้เข้ามาทำภารกิจร่วมกันกับสมาชิกในบ้านเป็นระยะ ๆ เพื่อดึงความสนใจของลูกสู่บุคคลและกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ ในระยะแรกควรตั้งเป้าหมายชัดเจนที่จะสอนทักษะการเล่นที่เหมาะสมกับวัย เพิ่มความสนใจของลูกกับของเล่นที่หลากหลายมากขึ้น (เพื่อป้องกันการหมกมุ่นกับบางกิจกรรมมากเกินไป) และสาธิตการเล่นอย่างถูกวิธี (สอนให้ลูกเล่นให้เป็น) หรือทำกิจกรรมยามว่างที่หลากหลาย เช่น ชวนลูกวาดรูป ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน เล่นของเล่น เป็นต้น และเมื่อลูกเล่นได้หลากหลาย เล่นถูกวิธี และเรียนรู้วิธีใช้เวลาอย่างอิสระอย่างรูปแบบและเหมาะสมกับวัยได้แล้ว จึงปล่อยให้ลูกเล่นเองอย่างอิสระ
.
(3) ทำข้อตกลง
ในบางสถานการณ์ เราจำเป็นต้องสอนให้ลูกตระหนักถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมและกำหนดกติกา เช่น ทำข้อตกลงตามวัยและตามลำดับความเข้าใจของลูก เช่น เราจะไม่พูดในลิฟท์ เราจะไม่พูดโพล่งในโบสถ์หรือในห้องเรียน หรือฝึกให้ลูกสังเกตบรรยากาศที่คนอื่นร่วมกิจกรรมแบบเงียบ ๆ
.
(4) สอนลูกจัดการกับสถานการณ์พิเศษ
ลูกอาจจะมีชุดคำพูดเฉพาะที่มักพูดกับตัวเองในสถานการณ์ที่มีความเครียด วิตกกังวล ประหม่า แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ ความตื่นเต้นจากระบบประสาทสัมผัสที่ไวจึงถูกรบกวนง่ายจากสิ่งเร้ารอบข้าง การพบคนแปลกหน้า หรือในบางกรณีลูกอาจใช้คำพูดเพื่อปฏิเสธ พูดเพื่อหลีกเลี่ยงการกิจกรรม ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ควรจับสังเกตท่าทีและคำพูดที่ลูกมักใช้ในสถานการณ์พิเศษเพื่อเข้าแทรกและช่วยนำให้ลูกจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างเหมาะสม โดยใช้คำพูดหรือสาธิตอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมและบอกขั้นตอนทีละลำดับ เช่น ช่วยจับนำ ช่วยบอกบทสนทนา หรือบอกวิธีให้ลูกรับรู้อย่างเป็นรูปธรรมว่าจะจัดการกับความเครียด ลูกจะผ่อนคลายหรือเบี่ยงเบนความสนใจอย่างไร เป็นการสอนทักษะให้ลูกรู้วิธีรับมือกับสิ่งกระตุ้นใหม่ ๆ และตอบสนองกับสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างเหมาะสม และก่อนที่ลูกจะไปเผชิญบุคคล สถานที่ สถานการณ์ใหม่ ๆ หรือเข้าไปในบรรยากาศที่อาจมีสิ่งเร้าที่รบกวนระบบการรับสัมผัสของลูก เช่น มีแสงจ้า มีเสียงดัง ฯลฯ ควรบอกให้ลูกรู้ล่วงหน้าว่าจะเจออะไรและบอกวิธิว่าลูกจะเผชิญอย่างไร เช่น วิ่งมาจับมือแม่ เอามืออุดหูไว้ กอดตุ๊กตาแน่น ๆ เป็นต้น
.
ในกรณีที่ลูกออทิสติกมีปัญหาด้านพฤติกรรม ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก “บ้านอุ่นรัก” ขอให้กำลังใจแก่พ่อแม่ผู้ปกครองในการค่อย ๆ หาทางช่วยลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจากนี้ เราจะคอยเป็นหน่วยสนับสนุนข้อมูล เพื่อท่านมีแนวทางในการนำทางลูก ๆ ต่อไป
.
เครดิตภาพ: Unsplash | Nurpalah Dee
.