ก่อนจะส่งลูกออทิสติกเข้าชั้นเรียนอนุบาลที่โรงเรียน เราอยากชวนคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองลองทำ Checklist สิ่งที่เราต้องเตรียมกันดูนะคะ
เรามั่นใจว่าคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองทุกบ้านทุกครอบครัว ล้วนมีการเตรียมความพร้อมด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสอนลูกอ่าน ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ท่อง A ถึง Z สอนลูกเรื่องสีและรูปทรง ฝึกให้ลูกนับเลขหลักหน่วย สิบ หรือร้อย สอนลูกเรื่องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และแม้แต่การเตรียมหาโรงเรียนให้ลูก วิ่งวุ่นซื้อชุดนักเรียน ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่คิดว่าลูกต้องใช้ที่โรงเรียน ซึ่งกว่าจะเตรียมพร้อมกันจนครบเสร็จสรรพ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองคงเหงื่อตกและเหน็ดเหนื่อยเอาเรื่องกันพอสมควรเลยนะคะ
แต่สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองของลูก ๆ ออทิสติก แม้เราไม่บอก ท่านก็รู้ว่า “ความพร้อมที่ท่านต้องเตรียม มีมากกว่านั้น” และเป็นเรื่องที่ไม่ท่านอาจรอให้ถึงอนุบาลแล้วค่อยเตรียม แต่ “ท่านต้องลงมือเตรียมเสียแต่เนิ่น ๆ นานพอสมควร ก่อนที่จะส่งลูกออทิสติกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล” ค่ะ
ก่อนจะคุยกันต่อเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อลูกออทิสติกได้เข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลและเรียนรู้อย่างมีความหมาย เรามีคำถาม 3 ข้อ มาถามคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองค่ะ ลองตอบในใจ แล้วอ่านบทความนี้ต่อ ในที่สุดท่านจะรู้ว่าคำถามเหล่านี้เกี่ยวข้องกับลูกออทิสติกที่จะเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลอย่างไรค่ะ
คำถาม 3 ข้อที่เรา (คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง) ต้องตอบ ก่อนส่งลูกออทิสติกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล
- อะไรคือความพร้อมพื้นฐานสำคัญ 3 ประการที่ลูกต้องมี เพื่อจะทำให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่โรงเรียนได้อย่างมีความหมาย
- ลูกมีธรรมชาติและอาการใดบ้างที่เป็นอุปสรรคในการเข้าเรียนร่วมในโรงเรียน
- เรามีแนวทางและรู้ขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะส่งลูกเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนแล้ว ใช่หรือไม่
เรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนส่งลูกออทิสติกวัยอนุบาลเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนนี้ “ยิ่งทำเร็ว ก็ยิ่งดี” นะคะ และครูนิ่มได้จัดทำคอร์สออนไลน์ที่น่าสนใจเรื่องนี้ไว้แล้ว หากท่านสนใจ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของคอร์สนี้ ตามลิ้งค์ที่เราแปะมาข้างล่างนี้ค่ะ
กลับมาที่คำถาม 3 ข้อที่เราตั้งไว้ให้ตอบ ซึ่งตอนนี้ เราขอเฉลยคำตอบของคำถามข้อที่ 1 ก่อนว่า ความพร้อมพื้นฐานสำคัญ 3 ข้อที่ลูกออทิสติกต้องมี เพื่อทำให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่โรงเรียนได้อย่างมีความหมาย ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
ความพร้อมพื้นฐาน 3 ข้อที่ลูกออทิสติกต้องมี เพื่อทำให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่โรงเรียนได้อย่างมีความหมาย
- มีการตอบสนองและมีส่วนร่วมตามตารางกิจวัตรประจำวันที่โรงเรียนอย่างมีความหมาย
- มีทักษะในการควบคุมตนและการดำรงชีวิตประจำวันร่วมกับคนอื่น ๆ ที่โรงเรียน
- มีความพร้อมด้านทักษะการเรียนรู้และมีพื้นฐานด้านวิชาการ
คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองลองพิจารณาข้อเท็จจริงว่าลูกมีความพร้อมพื้นฐานทั้ง 3 ประการแล้วใช่หรือไม่ หรือลูกยังขาดความพร้อมพื้นฐานข้อใดบ้าง และคำถามใหญ่ คือ ท่านจะช่วยลูกของท่าน “เตรียมตัวให้พร้อมพอสมควร” ได้อย่างไร
คำตอบในใจของคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง คงมีหลากหลาย ตั้งแต่ลูกพร้อมแล้ว พร้อมบ้างในบางด้าน หรือไม่พร้อมหลายด้าน ทั้งนี้ทั้งนั้น พร้อมหรือไม่พร้อม แค่ไหน อย่างไร ล้วนมีที่มาที่ไปและมีสาเหตุค่ะ และในตอนนี้ เรามาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ลูกออทิสติกอาจขาดความพร้อมไปพร้อม ๆ กันนะคะ
โดยธรรมชาติแล้ว ลูกออทิสติกจะมีกลุ่มของอาการสำคัญ 3 ประการที่เป็นสาเหตุของปัญหาเรื่องความพร้อม เป็นข้อจำกัด และกีดขวางการเรียนรู้ของลูก ๆ คือ
- มีความสนใจและตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวจำกัด
- ยึดติดรูปแบบ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวยาก
- มีระบบการรับรู้ไม่สมดุล จึงวิตกกังวลต่อสิ่งรอบตัวได้ง่ายและแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน
คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองรู้จักธรรมชาติและอาการของลูกดีกว่าใคร จึงย่อมรู้ว่าลูกอาจจะมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่มีปัญหาข้างต้นมากกว่าหนึ่งข้อ ที่จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาล หรือแม้แต่ลูกได้เข้าเรียนร่วมในชั้นเรียนแล้ว ท่านอาจพบว่าลูกเพียงแค่ไป “เรียนรวมอยู่กับเด็ก ๆ คนอื่น” แต่กลับไม่ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่คุณครูสอนอย่างมีความหมายที่แท้จริงเลย
แม้อาการต่าง ๆ 3 กลุ่มข้างต้นของลูกจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลให้ลูกมีปัญหาเรื่องความพร้อมพื้นฐานสำคัญ 3 ประการในการเข้าเรียนร่วม ต่อเนื่องไปจนกีดขวางลูกจากการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างมีความหมาย แต่จากการที่ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ทำงานด้านการกระตุ้นพัฒนาการและการเตรียมความพร้อมให้ลูก ๆ ออทิสติกวัย 2-5 ขวบ มานาน 26 ปี ประกอบกับเราได้ทำงานเรื่องการประสานงานเพื่อส่งลูกศิษย์ออทิสติกตัวน้อย ๆ ของเราเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลหลายแห่ง หลายรุ่น ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าการมีแนวทางการกระตุ้นพัฒนาการและการเตรียมความพร้อมที่ดีเป็นเรื่องที่ช่วยเด็ก ๆ ให้ได้เข้าเรียนร่วมในชั้นเรียนอนุบาลได้เป็นอย่างดีค่ะ
“การเตรียมความพร้อมให้ดี” ที่บ้านอุ่นรักทำได้นั้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวจนเกินที่จะเป็นจริงได้ แต่เป็นเรื่องที่คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองทุก ๆ ท่านสามารถลงมือทำที่บ้านได้เช่นกันค่ะ ขอเพียงท่านได้เรียนรู้ ตลอดจนตั้งใจและลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ในระยะเวลาที่ยาวนานมากพอ ในที่สุดความทุ่มเทของท่านที่ได้ลงมือช่วยลูก ก็จะส่งผลดีต่อลูกในลักษณะเดียวกันกับที่เราทำได้ค่ะ
ประโยชน์ที่ลูกจะได้รับจากการเตรียมความพร้อมที่ดี มีอะไรบ้างนะ มาอ่านกันต่อเลยค่ะ
- ลูกจะค่อย ๆ มีความพร้อมพื้นฐานสำคัญ 3 ประการที่ต้องมี ดังนั้น เมื่อลูกเรียนร่วมในชั้นเรียน ลูกจะเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างมีความหมาย
- กลุ่มของอาการ 3 ประการสำคัญที่เคยจำกัดและกีดขวางการเรียนรู้ของลูกจะบรรเทาเบาบางลง จนถึงระดับที่ลูกมีความพร้อมมากพอในการเข้าเรียนร่วมในชั้นเรียนอนุบาลต่อเนื่องต่อไปได้
การเตรียมความพร้อม เป็นเรื่องที่เราเรียนรู้ได้ ลงมือทำเองได้ที่บ้าน ยิ่งทำเร็วก็ยิ่งดี แต่ขอเน้นว่าเราต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ในระยะเวลาที่ยาวนานมากพอ ก่อนที่จะส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลค่ะ ลูกจึงจะได้รับประโยชน์จากการเตรียมความพร้อมนี้
ในลำดับถัดไป เราจะนำเสนอกรอบความคิดเรื่องขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ซึ่งเราบอกได้ด้วยความมั่นใจว่า “เราทำได้แล้วจริง ๆ และสิ่งที่เราทำ ช่วยลูก ๆ ออทิสติกได้จริง ๆ” และขอให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองมั่นใจว่า “ท่านก็ทำได้ เช่นเดียวกันกับเรา” ค่ะ
ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของ “บ้านอุ่นรัก” เกิดจากการสะสมองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติที่เราได้ทำงานด้านการกระตุ้นพัฒนาการและการเตรียมความพร้อมให้ลูกออทิสติกมานาน อีกทั้งเราได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนอนุบาลต่าง ๆ ในหลายแง่มุม เราจึงมีมุมมอง มีกรอบของความคิด มีการเก็บข้อมูลเพื่อวัดผลและตรวจสอบประสิทธิภาพของแนวทางต่าง ๆ ที่ได้ใช้ ตลอดจนพัฒนาแนวทางหรือรูปแบบการกระตุ้นพัฒนาการและการเตรียมความพร้อมเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ จนในที่สุด เราได้พบเส้นทางและขั้นตอนการเตรียมความพร้อมที่ดี ทำแล้วเห็นผล และทำได้จริงในชีวิตประจำวันค่ะ
เรื่องการเตรียมความพร้อมที่เราได้เกริ่นมาข้างต้น เราเน้นที่การพิจารณาว่าลูก ๆ ออทิสติกของเรามีอะไรบ้าง คือ
- มีความพร้อมพื้นฐานสำคัญ 3 ประการหรือไม่ อย่างไร
- มีธรรมชาติและลักษณะของกลุ่มอาการใดบ้างจาก 3 กลุ่มอาการ อันเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่จำกัดและกีดขวางการเรียนรู้ของลูก
แต่จากนี้ไป เราจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองต้องมีกันแล้วนะคะ เพราะการที่ท่านมีสิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเข้าเรียนร่วมในโรงเรียนอนุบาลค่ะ
สิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองต้องมีและรู้ คือ “มีแนวทางและรู้ขั้นตอนการเตรียมความพร้อม” ค่ะ
3 ขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ประกอบด้วย
- มีการกระตุ้นพัฒนาการระยะเริ่มแรก (Early Intervention) ให้กับลูก ๆ สำหรับขั้นตอนนี้ เรามุ่งแก้ไขอาการและธรรมชาติของลูกออทิสติกที่ยังขัดขวางพัฒนาการและการเรียนรู้ ซึ่งทำได้โดยการเพิ่มความใส่ใจต่อบุคคล เพิ่มทักษะการสานต่อปฎิสัมพันธ์แบบสองทาง กระตุ้นการเลียนแบบ เพิ่มความสนใจต่อสิ่งเร้ารอบตัวอย่างมีความหมาย เพิ่มทักษะทางภาษา ทั้งการขยายศัพท์ การฟังเข้าใจ การพูดสื่อสาร เพิ่มช่วงการคงสมาธิ และมีการปรับความสมดุลของระบบการรับสัมผัส เป็นต้น
- มีการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน (School Readiness) ให้กับลูก ๆ ขั้นตอนนี้เน้นการทำงาน 3 ด้าน คือ
- เตรียมให้ลูก ๆ มีแรงจูงใจด้วยตนเองที่จะตอบสนองและมีส่วนร่วมกับกิจกรรม ตามตารางกิจวัตรประจำวันอย่างมีความหมายมากขึ้น
- สอนและฝึกลูก ๆ เรื่องการดำรงชีวิตประจำวันและการควบคุมตนเองในด้านพฤติกรรม ทั้งนี้ ต้องมีการปรับพฤติกรรมที่ขัดขวางการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกับบุคคลรอบข้าง และเพิ่มทักษะพื้นฐานในการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันพร้อม ๆ กันไปด้วย
- เตรียมความพร้อมด้านทักษะการเรียนรู้ และพื้นฐานวิชาการ ตามหลักสูตรการเรียนชั้นอนุบาลให้กับลูก ๆ
- มีการประสานงานการเรียนร่วมในโรงเรียน ขั้นตอนนี้เป็นการทำงานร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่างบ้าน โรงเรียน และทีมบำบัด และมีจุดประสงค์หลัก คือ การสนับสนุนให้ลูก ๆ สามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในโรงเรียนให้ได้ และลูกได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ จนถึงระดับที่ลูกสามารถเข้าเรียนร่วมอย่างมีความหมายได้อย่างแท้จริง
อุปสรรคและปัญหาเกิดขึ้นได้ตลอดระยะเวลาที่ลูกของเราเจริญเติบโต แต่ด้วยความรักความปรารถนาดีของคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง และสมาชิกทุกคนในครอบครัว ด้วยรอยยิ้มและอ้อมกอดที่ยอมรับความเป็นลูกออทิสติก ความเข้มแข็ง ความอดทน ความพร้อมที่จะสู้ และความเชื่อมั่นในศักยภาพของลูกและของตัวท่านเองที่มีมากพอ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นองค์ประกอบที่นำทางทุกท่านสู่ความสำเร็จตามที่มุ่งหวังได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
ความสำเร็จในการเตรียมความพร้อมจะมากหรือน้อย ลูกจะได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการเตรียมความพร้อมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแรงกายที่จะลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ยาวนานมากพอ และแรงใจที่จะทำให้สำเร็จ ไม่ล้มเลิกกลางคัน ที่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองพยายามและทุ่มเทลงไปค่ะ
ได้อ่านบทความนี้และบทความต่าง ๆ ของเราแล้ว รู้สึกเช่นไร มีอะไรอยากถาม อยากบอก กรุณาติดต่อมาเพื่อบอกเรานะคะ
ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” จะเป็นเพื่อนคู่คิดให้ทุกท่าน เป็นครูของลูก ๆ และเป็นกองหนุนที่พร้อมส่งมอบกำลังใจไปยังคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ลูก ๆ ทุกบ้านทุกครอบครัว และคุณครูทุกโรงเรียนเสมอค่ะ