ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการ “บ้านอุ่นรัก” ได้รับคำถามในประเด็น “ทำอย่างไรดี ถ้าลูก……” จากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองอยู่เสมอ
ในตอนนี้ เรามีกรณีตัวอย่างที่คุณแม่ท่านหนึ่งได้ถามมา และท่านอนุญาตให้เราแชร์ข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองท่านอื่น ๆ ต่อไป
คำถามของคุณแม่:
คุณแม่กำหนดกติกาให้ลูกอายุ 5.9 ขวบว่า “อีก 10 นาทีต่อจากนี้ไป ลูกต้องอาบน้ำและแปรงฟันให้เสร็จ จากนั้น ลูกจึงจะได้ดูคลิปวีดีโอสัตว์น่ารัก 1 ตอน” แต่ลูกโอ้เอ้จนเลยเวลา คุณแม่จึงไม่ให้ลูกดูคลิปวีดีโอดังกล่าว ผลก็ คือ ลูกโมโหรุนแรง ทำท่าจะเข้ามาผลัก ตี และใช้คำพูดรุนแรง เช่น จะเอาปืนมายิงแม่ ควรทำอย่างไรดี คุณแม่เครียดมากเลยค่ะ
คำตอบของ “บ้านอุ่นรัก”:
เนื่องจาก “บ้านอุ่นรัก” ไม่ทราบพฤติกรรมของน้องในภาพรวม ตลอดจนไม่ทราบข้อมูลพื้นฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้อง เช่น วิธีการเลี้ยงดู และระดับอาการของน้อง เราจึงขออนุญาตให้แนวทางการรับมือกว้าง ๆ ว่า คุณแม่ควรแยกพฤติกรรมของน้องเป็น 2 ประเด็น คือ หนึ่ง: การอาบน้ำและแปรงฟัน และ สอง: การแสดงออกทางอารมณ์และใช้คำพูดรุนแรง
ประเด็นที่หนึ่ง : การอาบน้ำและแปรงฟัน
สิ่งที่คุณแม่จำเป็นต้องพิจารณา คือ
(1) เวลาที่ลูกจะอาบน้ำเสร็จด้วยตัวเองตามความเป็นจริง
(2) หากคุณแม่คิดว่าลูกควรอาบได้เสร็จภายใน 10 นาที จำเป็นต้องค้นหาว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้ลูกไม่สามารถอาบน้ำเสร็จภายใน 10 นาที เพื่อหาทางจัดสภาพกับสิ่งนั้น แล้วค่อยทำข้อตกลงกับลูกใหม่
(3) แรงจูงใจที่คุณแม่จะนำมาใช้ ไม่ควรเป็นสิ่งที่ลูกได้รับอยู่แล้วเป็นประจำ หรือไม่ควรเป็นสิ่งที่ลูกสามารถหามาทำได้ด้วยตัวของลูกเอง หากแรงจูงใจเดิมยังไม่เหมาะสม ในระยะแรกของการปรับพฤติกรรมใหม่ ๆ อาจจะเริ่มมองหาแรงจูงใจใหม่ที่เป็นสิ่งที่ลูกชอบแต่เป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ลูกไม่ได้รับเป็นประจำในชีวิตประจำวันก่อน ซึ่งอาจจะช่วยลดความขัดแย้งในกรณีที่ลูกทำไม่ได้ตามที่กำหนด
ประเด็นที่สอง : การแสดงออกทางอารมณ์และใช้คำพูดรุนแรง
การที่ลูกแสดงออกทางอารมณ์และใช้คำพูดรุนแรง น่าจะเป็นสถานการณ์ที่ลูกพยายามแสดงความรู้สึกไม่พอใจ ความรู้สึกปฏิเสธ และความรู้สึกหงุดหงิดออกมา
คุณแม่ไม่ควรแปลความหมายสิ่งที่ลูกพูดตามคำพูด 100% เพราะจะทำให้คุณแม่ขาดความมั่นใจที่จะช่วยปรับพฤติกรรมของลูก อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรพยายามลดโอกาสที่ลูกจะได้เรียนรู้คำเหล่านั้น และหากลูกพูดคำเหล่านั้นออกมา คุณแม่จะเพิกเฉย ไม่ไปจดจ่อกับความหมายของคำพูดนั้น แต่ให้เบี่ยงเบน ดึงความสนใจออก โดยคุณแม่พูดสั้น ๆ พูดกระชับ และพูดระบุให้ลูกรู้ว่าลูกควรทำพฤติกรรมหรือสิ่งใดแทน
ประเด็นที่สำคัญ คือ คุณแม่ต้องไม่สนใจคำพูดที่รุนแรงของลูกเลย หรืออาจเสนอประโยคที่เหมาะสมที่ลูกควรพูดในสถานการณ์นั้น ๆ เป็นการทดแทน
“บ้านอุ่นรัก” ต้องขอโทษที่ตอบคำถามของคุณแม่แบบกว้าง ๆ เนื่องจากเราไม่ทราบข้อมูลพื้นฐานระดับอาการและความเป็นมาของการเลี้ยงดูค่ะ
การปรับพฤติกรรมให้สำเร็จ โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ทำต่อเนื่องล่วงเลยมานาน ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณแม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูก โดยไม่ใช้ถ้อยคำหรือท่าทีที่รุนแรง ค่อย ๆ ปรับโดยคำนึงถึงกติกาตามวัยพร้อมกับความรู้สึกของลูกด้วยครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ หากคุณแม่พบว่าลูกมีปัญหาพฤติกรรมในระดับที่คุณแม่เริ่มกังวลใจ ควรไปขอคำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์ที่ดูแลลูกค่ะ เพราะหลังจากวัยนี้ผ่านพ้นไป ลูกจะถึงวัยที่มีอารมณ์หงุดหงิดรุนแรงขึ้นด้วยระดับฮอร์โมน และการปรับตัวด้านพัฒนาการทางเพศค่ะ
ทั้งนี้ หากปัจจุบัน ลูกเข้ารับการกระตุ้นพัฒนาการอยู่แล้ว คุณแม่ควรหาโอกาสพูดคุยและปรึกษาครูกระตุ้นพัฒนาการของลูกบ่อย ๆ เพื่อขอความเห็นและข้อแนะนำ จากนั้นก็นำความเห็นและคำแนะนำของคุณหมอและครูกระตุ้นพัฒนาการมาทดลองทำที่บ้าน เพื่อจะได้กลับไปพูดคุยกับคุณหมอหรือคุณครูต่อเนื่องอีก โดยเฉพาะเมื่อทดลองทำแล้วแต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จในครั้งเดียว เมื่อลูกเข้าสู่วัยประถมในลำดับถัดไป คุณแม่ควรจะเริ่มใช้กติกาและการคุยทำข้อตกลงร่วมกันให้มากขึ้น และฝึกให้ลูกดูแลตนเอง และลดการแยกตัวที่จะหมกมุ่นกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่ลูกสนใจนานเกินไปหรือมากเกินไป ไม่ควรปล่อยผ่านหรือไว้เช่นนั้น เพราะในอีกไม่นาน ลูกจะไม่ยอมทำตามการชี้นำหรือไม่ร่วมมือในการทำกิจกรรมอื่น ๆ เพราะหงุดหงิดเมื่อถูกขัดจังหวะค่ะ
ในท้ายนี้ ทีมครูบ้านอุ่นรักขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่นะคะ
เครดิตภาพ: Halanna Halila | Unsplash